ประวัติความเป็นมา วัดม่วง

เดิมทีวัดม่วงเป็นวัดร้าง สันนิษฐานว่าสร้างในสมัยกรุงศรีอยุธยาตอนปลาย ปี พ.ศ. ๒๒๓๐ ณ. แขวงเมืองวิเศษชาญ ซึ่งเคยได้เป็นเมืองหน้าด่าน ที่มีความเจริญรุ่งเรืองมาก ต่อมาในปี พ.ศ. ๒๓๑๐ กรุงศรีอยุธยาได้เสียกรุงให้แก่พม่า พม่าได้เผาผลาญบ้านเมือง วัดวาอาราม และพระพุทธรูปไปเป็นจำนวนมาก สิ่งที่หลงเหลืออยู่ คือ ซากปรักหักพังของวัดวาอาราม และพระพุทธรูป ที่อยู่บนเนินมีต้นไม้ใหญ่จำนวนมาก

เมื่อวันที่ ๘ ธันวาคม พ.ศ. ๒๕๒๕ ท่านพระคูวิบูลอาจารคุณ ( หลวงพ่อเกษม อาจารสุโภ ) ได้มาปักกลดธุงดงค์เห็นว่าบริเวณนี้เคยเป็นวัดร้าง จึงน่าปฏิบัติธรรม แต่ขณะปฏิบัติธรรม ได้ปรากฏนิมิต เห็นองค์หลวงปู่ขาว และหลวงปู่แดง มาบอกว่าให้ท่านได้ช่วยก่อสร้างวัดม่วงขึ้นมาใหม่ เพราะท่านพระครู เป็นผู้มีบารมี ที่สามารถจะก่อสร้างบูรณะวัดม่วง ขึ้นมาใหม่ได้ด้วย ผู้ที่เคยอาศัยในสมัยก่อนได้มาเกิด และจะมาช่วยท่านแล้ว และในบริเวณวัดร้างนี้จะมีศิลาขาว และศิลาแดงอยู่ คือ องค์ของหลวงปู่ขาว และหลวงปู่แดง นั้นเอง ซึ่งต่อมาท่านพระครูวิบูลอาจารคุณ ได้มีการปั้นองค์พระครอบศิลาขาว และศิลาแดงไว้ โดยเรียกนามว่า หลวงปู่ขาว และหลวงปู่แดง จนถึงปัจจุบันนี้

ในปีพ.ศ. ๒๕๒๖ ท่านพระครูวิบูลอาจารคุณ ได้มีการเริ่มบูรณะและได้สร้างเสนาสนะต่าง ๆ ขึ้น โดยได้รับการบริจาค ทั้งเงินทำบุญ และทำบุญด้วยแรงงาน ร่วมกันดำเนินงานในการก่อสร้าง

จนกระทั้งวันที่ ๖ สิงหาคม พ.ศ. ๒๕๒๗ กระทรวงศึกษาธิการ จึงได้มีการประกาศยกฐานะให้วัดม่วง ซึ่งเคยเป็นวัดร้างให้เป็นวัดที่มีพระสงฆ์

เมื่อวันที่ ๒๔ ตุลาคม พ.ศ. ๒๕๒๗ ได้มีการแต่งตั้งท่านพระครูวิบูลอาจารคุณเป็นเจ้าอาวาสวัดม่วง ต.หัวตะพาน อ.วิเศษชัยชาญ จ. อ่างทอง

เมื่อวันที่ ๑๒ กันยายน พ.ศ.๒๕๒๙ พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวภูมิพลอดุลยเดช รัชกาลที่ ๙ แห่งราชจักรี ได้ทรงพระราชทานวิสุงคามสีมาให้แก่วัดม่วง เป็นต้นมา

ในปีพ.ศ. ๒๕๓๔ ท่านพระวิบูลอาจารคุณ ได้ร่วมพลังจิตอธิฐาน ร่วมกับประชาชนผู้มีจิตศรัทธาทั่วประเทศ ได้สมทบทุนสร้างพระพุทธรูปที่ใหญ่ที่สุดในโลก เพื่อน้อมถวาย แด่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ภูมิพลอดุลยเดชรัชกาลที่ ๙ และราชวงศ์จักรี มีพระนามว่า พระพุทธมหานมินทร์ศากยมุนีศรีวิเศษชัยชาญ มีหน้าตักกว้าง ๖๒ ม. สูง ๙๓ ม. มูลค่าในการก่อสร้าง ๑๐๖,๐๐๐,๐๐๐ บาท ( หนึ่งร้อยหกล้านบาท )

เมื่อวันเสาร์ที่ ๙ มีนาคม พ.ศ. ๒๕๓๔ ( วันแรม ๑ ค่ำา เดือน ๔ ) ปีมะเมีย เวลา ๙.๐๐ น. ได้วางศิลาฤกษ์ โดยสมเด็จพระโฆษาจารย์ วัดสุวรรณดาราม กทม. เป็นประธานฝ่ายสงฆ์ และพระครูวิบูลอาจารคุณ (หลวงพ่อเกษม อาจารสุโภ ) เป็นประธานฝ่ายดำเนินการก่อสร้าง และหาทุน และให้กฤษ์การก่อสร้างได้ดำเนินมา จนสำเร็จใน ๒๗ กรกฎาคม พ.ศ. ๒๕๕๐ ( วันขึ้น ๑๓ ค่ำ เดือน ๘ ) รวมเป็นเวลาในการก่อสร้างทั้งสิ้น ๑๖ ปี นับตั้งแต่ปี พ.ศ. ๒๕๓๕ - ๒๕๕๐

ปัจจุบันวัดม่วงแห่งนี้ มีเนื้อที่ทั้งหมด ๗๒ ไร่ ซึ่งที่ดินดังกล่าว ท่านพระครูวิบูลอาจารคุณ ได้ซื้อรวบรวมได้ก่อนที่ท่านจะมรณภาพ โดยวัตถุประสงค์ เพื่อทำโครงการ ดังต่อไปนี้

  1. สถานที่ศึกษาพระธรรม พระพุทธศาสนา และปฏิบัติธรรม สำหรับ พระภิกษุสงฆ์ และประชาชน
  2. สร้างโรงพยาบาลสงฆ์
  3. ศูนย์จำหน่ายสินค้าศิลปาชีพในโครงการหลวง
  4. แหล่งท่องเที่ยวเชิงพระพุทธศาสนา แก่ชาวไทย และชาวต่างประเทศ

รายนามชื่อเจ้าอาวาส ถึง ปัจจุบัน

ลำดับที่ ๑
พระครูวิบูลอาจารคุณ ( หลวงพ่อเกษม อาจารสุโภ )
ดำรงตำแหน่ง วันที่ ๒๔ ตุลาคม พ.ศ. ๒๕๒๗
มรณภาพ วันที่ ๗ มีนาคม พ.ศ. ๒๕๔๔
ลำดับที่ ๒
พระใบฎีกาบุญเลิศ ทีปธมโม
ดำรงตำแหน่ง ในปี พ.ศ. ๒๕๔๔ - ๒๕๔๕
ลำดับที่ ๓
พระปลัดวินัย วินโย
ดำรงตำแหน่ง ในปี พ.ศ. ๒๕๔๕ - ๒๕๔๖
ลำดับที่ ๔
พระอธิการสุธน สุธมโม
ดำรงตำแหน่ง ในปี พ.ศ. ๒๕๔๖ - ปัจจุบัน

วัดม่วง ตั้งอยู่ที่บ้านหัวตะพาน หมู่ที่ ๖ ตำบลหัวตะพาน อำเภอวิเศษชัยชาญ จังหวัดอ่างทอง สังกัดคณะสงฆ์มหานิกาย มีที่ดินตั้งวัดเนื้อที่ ๗ ไร่ ๓๐ ตารางวา อาณาเขตทิศเหนือ ๗๘ เมตร ติดต่อกับที่ดินนายสมพงษ์ เหลืองสีทอง ทิศใต้ยาว ๘๘ เมตร ติดต่อกับที่ดินของนาย ซัน ตะโนรี และนายสมัคร ยิ้มผาสุก ทิศตะวันออกยาว ๑๓๖ เมตร ติดต่อกับที่ดิน นายสมพงษ์ เหลืองสีทอง ทิศตะวันตกยาว ๑๑๐ เมตร ติดต่อกับที่ดินของนางจรูญ ขจรศรี

พื้นที่ตั้งวัดเป็นที่ราบ มีถนนเข้าถึงวัด อาคารเสนาสนะต่าง ๆ มี ศาลาการเปรียญกว้าง สร้างด้วยไม้ หอสวดมนต์กว้าง ๑๐ เมตร ยาว ๑๗ เมตร สร้างด้วยคอนกรีต กุฎิสงฆ์ จำนวน ๗ หลัง เป็นอาคารคอนกรีตและไม้

วัดม่วง สร้างขึ้นเป็นวัด นับตั้งแต่ประมาณ พ.ศ. ๒๒๓๐ ต่อมาได้กลายสภาพเป็นวัดร้าง ได้รับการบูรณะปฏิสังขรณ์ขึ้นมาใหม่ กระทรวงศึกษาธิการ ได้ประกาศยกขึ้นเป็นวัดที่มีพระสงฆ์ วันที่ ๖ สิงหาคม พ.ศ. ๒๕๒๗

กลับหน้าแรก >>


Copyright © 2008 by Wat-Muang.com . All rights reserved.